วิวัฒนาการ และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต

 ใน ปี ค.ศ.1831 ชารลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ได้ล่องเรือไปยังหมู่เกาะกาลาปากอส ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทางฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นหมู่เกาะซึ่งเกิดขึ้นใหม่จากลาวา ซึ่งประทุขึ้นของภูเขาไฟใต้ท้องมหาสมุทร ดาร์วินสังเกตว่า ทำไมสัตว์ที่พบบนเกาะแห่งนี้ จึงมีลักษณะพิเศษ แตกต่างไปจากสัตว์ประเภทเดียวกันบนผืนแผ่นดินใหญ่ เขาจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า สัตว์เหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากแผ่นดินใหญ่ และถูกน้ำพัดพา ลอยหรือบินมายังเกาะแห่งนี้ และเมื่อเวลาผ่านไปนับล้านปี มันได้ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของเกาะ รูปร่างลักษณะของมันจึงแตกต่างไปจากบรรพบุรุษบนแผ่นดินใหญ่ ดาร์วินจึงนำเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อสังเกตสามประการคือ สิ่งมีชีวิตทั้งมวลล้วนผันแปร มีความสามารถถ่ายทอดคุณสมบัติลักษณะ และต้องดิ้นรนแข่งขันเพื่อความอยู่รอด ปัจจัยทั้งสามนี้ทำให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดปรับตัวได้ดีกว่าชนิดอื่นๆ ซึ่งยังผลให้มันอยู่รอดปลอดภัยและแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้ช้าก็คงเหลืออยู่น้อยหรือสูญพันธุ์ไป การปรับตัวที่ว่านี้เป็นไปอย่างช้าๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนาน ผลที่ได้คือ คุณลักษณะต่างๆ จะปรากฏมากขึ้นๆ ในรุ่นต่อไป เขาเรียกกระบวนการเช่นนี้ว่า “การคัดเลือกโดยธรรมชาติ” (Natural selection) ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่า กลไกที่ขับดันให้เกิดการวิวัฒนาการมี 2 สาเหตุ คือ การกลายพันธุ์ และการอยู่รอดของผู้ที่เก่งกว่า


ภาพที่ 1 ชารลส์ ดาร์วิน

การกลายพันธุ์
กลไกในการสืบทอดพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตคือ การคัดลอก DNA โดยธรรมชาติการคัดลอกจะมีความคลาดเคลื่อน (Error) ไปบ้างเล็กน้อย เมื่อการผิดพลาดทำให้เกิดความเพี้ยน เซลล์ใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีความแตกต่างจากเซลล์ต้นกำเนิดเล็กน้อย เนื่องจากรหัสพันธุกรรมใน DNA เปลี่ยนแปลงไป คำสั่งในการสร้างโปรตีน กลไกทางเคมี และการควบคุมการทำงานของเซลล์ก็จะเปลี่ยนไปด้วย ครั้นเมื่อเซลล์รุ่นสองจะแบ่งตัวอีก มันกลายเป็นต้นแบบในการคัดลอกให้กับเซลล์รุ่นที่ 3 และการคัดลอกครั้งนี้ก็จะมีความคลาดเคลื่อนไปอีกเล็กน้อยด้วย ความคลาดเคลื่อนจะสะสมมากขึ้นในลักษณะรุ่นต่อรุ่น ทำให้เซลล์รุ่นที่ 3 มีความแตกต่างจากเซลล์รุ่นที่ 1 มากกว่าเซลล์รุ่นที่ 2 เมื่อเกิดการคัดลอกรุ่นแล้วรุ่นเล่านับแสนรุ่น สิ่งชีวิตในรุ่นหลังอาจมีความแตกต่างไปมากจนแทบไม่เหมือนบรรพบุรุษของมันเลย ลักษณะของการคัดลอกเช่นนี้มีลักษณะเหมือนการลอกการบ้านแล้วส่งต่อ คือ
1. เมื่อนักเรียนคนที่สองคัดลอกการบ้านจากเพื่อนคนแรกแล้วส่งต่อให้เพื่อนคนที่สาม คนที่สามจะคัดลอกความคลาดเคลื่อนที่คนที่สองทำไว้แตกต่างจากคนแรก
2. เมื่อนักเรียนคนที่สามคัดลอกการบ้านจากเพื่อนคนที่สองแล้วส่งต่อให้เพื่อนคนที่สี่ คนที่สี่จะคัดลอกความคลาดเคลื่อนที่คนที่สามทำไว้แตกต่างจากคนที่สอง
3. เมื่อนักเรียนคนที่สี่คัดลอกการบ้านจากเพื่อนคนที่สาม แล้วส่งต่อให้เพื่อนคนที่ห้า คนที่ห้าจะคัดลอกความคลาดเคลื่อนที่คนที่สี่ทำไว้แตกต่างจากคนที่สาม
4. เมื่อนักเรียนคนที่ห้าสิบคัดลอกการบ้านจากเพื่อนคนที่สี่สิบเก้า แล้วส่งต่อให้เพื่อนคนที่ห้าสิบ คนที่ห้าสิบจะคัดลอกความคลาดเคลื่อนที่คนที่ห้าสิบทำไว้แตกต่างจากคนที่สี่สิบเก้า
เมื่อนำการบ้านของนักเรียนคนที่ห้าสิบมาเปรียบเทียบกับการบ้านของนักเรียนคนแรก เราจะพบว่าข้อความในการบ้านทั้งสองแตกต่างกันมากจนคิดไม่ถึงเลยว่า นักเรียนคนที่ห้าสิบลอกการบ้านต่อๆ กันมาจากนักเรียนคนแรก ในทำนองเดียวกัน ในสาย DNA ของมนุษย์หนึ่งคู่ ประกอบด้วยฐานนิวโตรจีเนียสจำนวนมากกว่า 1 หมื่นล้านฐาน ในการคัดลอกหนึ่งครั้งจะมีความคลาดเคลื่อนประมาณ 10 ฐาน ความแตกต่างนี้เองทำให้ลูกหลานของเรามีคุณลักษณะบางอย่างไม่เหมือนกับบรรพบุรุษ เมื่อความคลาดเคลื่อนสะสมกันหลายแสนรุ่นซึ่งอาจใช้เวลาหลานล้านปี ก็จะเกิดสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ (สายพันธุ์ใหม่) เราเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า“การกลายพันธุ์” (Mutation)


ภาพที่ 2 วิวัฒนาการของแขนและปีก

การอยู่รอดของผู้ที่เหนือกว่า
ในความเป็นจริงทุกสถานที่จะมีข้อจำกัดในตัวของมันอยู่ เช่น ห้องเรียนรองรับนักเรียนได้มากที่สุด 50 คน โรงอาหารรองรับนักเรียนได้ 500 คน รถโดยสารมี 42 ที่นั่ง หากมีผู้ต้องการใช้บริการมากกว่าข้อจำกัดนี้ ก็จะเกิดการแข่งขันขึ้นโดยปริยาย ผู้ที่มาก่อนหรือผู้ที่เหนือกว่า จะเป็นผู้ที่ได้ใช้บริการ
ระบบนิเวศในธรรมชาติก็มีข้อจำกัดเช่นกัน ผู้ชนะที่จะได้รับบริการได้แก่ ผู้ที่มีความสามารถในการหาอาหาร ป้องกันตัว หรือปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม และภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น ยกตัวอย่าง หากมีเกาะแห่งหนึ่งมีอาหารจำกัดสำหรับสัตว์ 10,000 ตัว สมมติว่าเกาะแห่งนี้มีสัตว์เพียงพันธุ์เดียว และมีอยู่ตัวหนึ่งซึ่งรหัสพันธุกรรมของมันแตกต่างไปจากสัตว์ตัวอื่น ทำให้มันมีความสามารถในการหาอาหารเก่งกว่าผู้อื่น เมื่อมันสืบพันธุ์ลูกของมันก็จะสืบทอดคุณสมบัติในการหาอาหารเก่งเอาไว้ด้วย เมื่อการสืบพันธุ์ก็จะเกิดขึ้นหนึ่งพันรุ่น ก็จะคงเหลือแต่ทายาทของสัตว์ตัวนี้เท่านั้นที่ครอบครองเกาะ เนื่องเพราะมีแต่พวกมันทวีจำนวนขึ้นและมีความสามารถในการหาอาหารที่เหนือกว่า ทายาทของสัตว์ 9,999 ตัวในรุ่นแรก ไม่สามารถหาอาหารสู้พวกมันได้ จึงขาดอาหารและสูญพันธุ์ไป (การสืบทอดทายาทหนึ่งพันรุ่นนั้น เป็นช่วงเวลาแค่พริบตาเมื่อเทียบกับช่วงเวลาทางธรณีวิทยาหลายร้อยล้านปี) เราเรียกเหตุการณ์เช่นนี้ว่า “การอยู่รอดของผู้ที่เหนือกว่า” (Survival of the fittest)
จากการศึกษาฟอสซิล (ซากสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์) พบว่า สิ่งมีชีวิตบางสปีชีส์อุบัติขึ้นเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนและยังมีสืบทอดลูกหลานให้เห็นในปัจจุบันดังเช่น ปลาดาว แต่บางสปีชีส์ที่เคยอุบัติขึ้นเมื่อหลายร้อนปีที่แล้ว กลับสูญพันธุ์หายไปดังเช่น ไดโนเสาร์ ดังกราฟที่แสดงในภาพที่ 3


ภาพที่ 3 วิวัฒนาการของสัตว์

ความหลากหลายทางชีวภาพ
หลักฐานของสิ่งมีชีวิตที่เก่าแก่ที่สุดเป็นฟอสซิลของจุลินทรีย์โบราณ อายุ 3.5 พันล้านปี ในทวีปออสเตรเลีย มีรูปร่างคล้ายแบคทีเรียสีฟ้าเขียวในปัจจุบัน ซึ่งมีความสามารถในการสังเคราะห์ด้วยแสง ในการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นอาหารและคายก๊าซออกซิเจนออกมา จุลินทรีย์โบราณนี้เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวคือ เซลล์โพรคาริโอต ไม่มีนิวเคลียส และอวัยวะพิเศษอื่นใด ตัวอย่างของเซลล์โพรคาริโอตได้แก่ แบคทีเรียชนิดต่างๆ
หนึ่งพันล้านปีต่อมา เซลล์โพรคาริโอตบางชนิดได้วิวัฒนาการให้มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต โดยเสริมสิ่งป้องกันตัว และระบบจัดหาพลังงานที่ดีกว่าจนกลายเป็นเซลล์ยูคาริโอต ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีความสลับซับซ้อนมากกว่า ในเวลาต่อมา เซลล์ยูคาริโอตได้กลายเป็นบรรพบุรุษของ พืช เห็ดรา และสัตว์ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ อุบัติขึ้นประมาณหนึ่งพันห้าร้อยล้านปีที่แล้ว ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกนี้มีจำนวนระหว่าง 2 – 30 ล้านสปีชีส์ โดยที่บันทึกอย่างเป็นทางการแล้ว 1.4 ล้านสปีชีส์ ออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 5 อาณาจักรดังนี้
 อาณาจักรโมเนอรา (Kingdom Monera) เป็นอาณาจักรของโพรคาริโอตเซลล์เดี่ยว ไม่มีนิวเคลียส ได้แก่ แบคทีเรียชนิดต่างๆ มีสมาชิกประมาณ 6,000 สปีชีส์ ซึ่งแบ่งตามกระบวนการทางชีวภาพเคมีได้ 3 จำพวกคือ
 ออโตทรอฟ (Autotroph) หมายถึง พวกที่สร้างอาหารได้ด้วยตนเอง โดยการเปลี่ยนสารอนินทรีย์เป็นสารอินทรีย์ เช่นการสังเคราะห์ด้วยแสง
 เฮเทโรทรอฟ (Heterotroph) หมายถึง พวกที่บริโภคสารอินทรีย์ที่สร้างขึ้นจากสิ่งมีชีวิตอื่น
 มิโซทรอฟ (Mixotroph) หมายถึง พวกที่บริโภคทั้งสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์
 อาณาจักรโพรติสตา (Kingdom Protista) เป็นอาณาจักรของยูคาริโอตเซลเดี่ยว มีสมาชิกประมาณ 60,000 สปีชีส์ เซลล์ถูกพัฒนาให้มีนิวเคลียสห่อหุ้มโครโมโซม และสร้างอวัยวะซึ่งทำหน้าที่เฉพาะทางได้แก่ คลอโรพลาสต์ มีหน้าที่สังเคราะห์อาหารด้วยแสง โดยการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นอาหารและคายก๊าซออกซิเจน
ไมโทคอนเดรียน มีหน้าที่นำก๊าซออกซิเจนมาเผาผลาญอาหารให้เกิดพลังงานและคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ซึ่งวิวัฒนาการในยุคต่อมาได้แยกเป็น พืช เห็ดรา และสัตว์ สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโพติสตาได้แก่ สาหร่าย โปรตัวซัว แพลงตอน
          อาณาจักรพืช (Kingdom Plantae) มีสมาชิกประมาณ 250,000 สปีชีส์ ซึ่งมีเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกออโตทรอฟ ซึ่งใช้คลอโรฟิลล์สีเขียวเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นอาหารและคายก๊าซออกซิเจน พืชมีบทบาทสำคัญต่อวัฎจักรน้ำและเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีของบรรยากาศ นอกจากนั้นยังมีบทบาทที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีของดินด้วยการดูดซับธาตุอาหาร อันได้แก่ คาร์บอน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และกำมะถัน พืชจึงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตบนโลก
          อาณาจักรเห็ดรา (Kingdom Fungi) มีสมาชิกประมาณ 70,000 สปีชีส์ มีลักษณะคล้ายพืช แต่เป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกเฮโรทรอฟซึ่งบริโภคสารอินทรีย์ที่สิ่งมีชีวิตอื่นสร้างไว้ เราจะเห็นได้ว่า เห็ดมักขึ้นอยู่ตามซากต้นไม้ ราและยีสต์มักขึ้นอยู่ตามอาหาร เห็ดราบางชนิดสามารถดูดกลืนสารอินทรีย์จากพื้นดินได้โดยตรง ไลเคนสามารถอาศัยอยู่บนพื้นหินแข็ง พวกมันมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวของป่าเป็นอย่างมาก เนื่องจากความสามารถในการดูดกลืนน้ำและการทำปฏิกิริยาทางเคมี
          อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia) มีสมาชิกประมาณ 1,000,000 สปีชีส์ จัดเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกออโตทรอฟ ซึ่งมีการบริโภคเป็นระบบห่วงลูกโซ่อาหารเป็นชั้นๆ เช่น กวางกินหญ้า เสือกินกวาง นกแร้งกินเสือ เป็นต้น สัตว์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีชีวภาพ เป็นต้นว่า กระดูกและกระดองสร้างจากแคลเซียมคาร์บอเนต การหายใจของสัตว์ควบคุมปริมาณก๊าซออกซิเจนในบรรยากาศไม่ให้มากเกินไป สายพันธุ์ของมนุษย์ (Homo) เพิ่งแยกออกมาจากสายพันธุ์ของลิงเมื่อ 3 ล้านปีก่อน สปีชีส์โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ของมนุษย์ในปัจจุบัน เพิ่งอุบัติขึ้นเมื่อประมาณ 2 แสนปีก่อนนี้เอง


ภาพที่ 4 วิวัฒนาการของอาณาจักรทั้งห้า


การจัดจำแนกกลุ่มของสิ่งมีชีวิต
เนื่องจากสิ่งมีชีวิตในโลกนี้มีมากมายหลายล้านสปีชีส์ นักวิทยาศาสตร์จึงใช้วิธีการจัดกลุ่มเป็นระบบซับเซ็ท เรียงลำดับเป็นระดับ 7 ชั้น จากกลุ่มใหญ่ไปยังกลุ่มย่อย จากรายละเอียดน้อยไปรายละเอียดมาก ซึ่งเรียกว่า “แทกซาโนมี” (Taxanomy) ดังที่แสดงในภาพที่ 5 โดยมี “อาณาจักร” (Kingdom) มีระดับที่ใหญ่ที่สุด และ “สปีชีส์” (Species) เป็นระดับที่เล็กที่สุด โดยที่สมาชิกของสปีชีส์หนึ่งจะผสมพันธุ์ได้เฉพาะกับสมาชิกอื่นๆ ที่อยู่ในสปีชีส์เดียวกันเท่านั้น การผสมพันธุ์ข้ามสปีชีส์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมีโครโมโซมไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามยังมีการผสมพันธุ์ข้ามสปีชีส์ในบางกรณี เช่น ล่อ เกิดจากม้าผสมพันธุ์กับลา แต่ทายาทที่เกิดมาก็จะไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ต่อไป


ภาพที่ 5 การจัดจำแนกกลุ่มของสิ่งมีชีวิต

          ตัวอย่างการจำแนกสปีชีส์ ได้แก่ สิงโต จัดเป็น สัตว์ (อาณาจักรสัตว์) มีกระดูกสันหลัง (ไฟลัม คอร์ดาตา) เลี้ยงลูกด้วยนม (คลาส แมมเมเลีย) ล่าเนื้อเป็นอาหาร (ออเดอร์ คาร์นิโวรา) มีอุ้งเท้าหน้ามี 5 นิ้ว อุ้งเท้าหลังมี 4 นิ้ว (วงศ์ เฟลิเด) จำพวกเสือ (สกุล แพนเธอรา) สปีชีส์สิงโต (สปีชีส์ แพนเธอรา ลีโอ) ดังที่แสดงในตารางที่ 1
สิงโต (Lion หรือ Leo) เป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกกันทั่วไป ส่วนในการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์นั้น จะขึ้นต้นด้วยชื่อสกุลแล้วตามด้วยชื่อพันธุ์เช่น แพนเธอรา ลีโอ

ตารางที่ 1 ตัวอย่างการจำแนกสปีชีส์ สิงโต

ระดับชั้น
ชื่อในระดับ
ตัวอย่างในระดับ
อาณาจักร (Kingdom)
สัตว์
สิงโต ช้าง ปลา ปู แมลง กิ้งก่า
ไฟลัม (Phylum)
คอร์ดาตา(มีกระดูกสันหลัง)
สิงโต ช้าง ปลา กิ้งก่า
คลาส (Class)
แมมเมเลีย (เลี้ยงลูกด้วยนม)
สิงโต ช้าง สุนัขป่า กวาง
ออเดอร์ (Order)
คาร์นิโวรา (ล่าเนื้อ)
สิงโต สุนัขป่า หมี แมว
วงศ์ (Family)
เฟลิเด (อุ้งเท้าหน้ามี 5 นิ้ว อุ้งเท้าหลังมี 4 นิ้ว)
สิงโต เสือลาพพาดกลอน แมวป่า
สกุล (Genus)
แพนเธอรา (จำพวกเสือ)
สิงโต เสือลายพาดกลอน เสือจากัวร์
สปีชีส์ (Species)
แพนเธอรา ลีโอ (สิงโต)
สิงโต

Related Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *