เวลาทางธรณีวิทยา

 โลกมีอายุประมาณ 4,600 ล้านปี นักธรณีวิทยาได้แบ่งเวลาของโลกในอดีตออกเป็น 3 มหายุค คือ อาร์เคียน (Archean แปลว่า ยุคดึกดำบรรพ์), โพรเทอโรโซอิก (Proterozoic แปลว่า สิ่งมีชีวิตยุคแรก) และ ฟาเนอโรโซอิก (Phanerozoic aeon หมายถึง สิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน)


ภาพที่ 1 มหายุคทั้งสาม

มหายุคอาร์เคียน (Archaean aeon)
นับตั้งแต่ 4.6 – 2.5 พันล้านปีก่อน เป็นช่วงเวลาที่โลกเริ่มก่อตัวเป็นดาวเคราะห์ อุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนโลก เปลือกโลกยังไม่เสถียร เต็มไปด้วยภูเขาไฟพ่นก๊าซร้อนออกมา บรรยากาศเต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
 4,200 ล้านปีก่อน โลกเย็นตัวลง ไอน้ำควบแน่นทำให้เกิดฝน
 4,000 ล้านปีก่อน เกิดโมเลกุลของสิ่งมีชีวิต (RNA)
 3,800 ล้านปีก่อน หินตะกอนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อยู่ที่เกาะกรีนแลนด์ในปัจจุบัน
 3,500 ล้านปีก่อน เกิดเซลล์ชนิดไม่มีนิวเคลียส (Prokaryotic cell)
 3,400 ล้านปีก่อน น้ำฝนตกขังบนแอ่งที่ต่ำกลายเป็นทะเล เกิดแบคทีเรียสังเคราะห์แสง (Cyanobacteria) และสโตรมาโทไลต์ (Stromatolites) ทำให้บรรยากาศเริ่มมีก๊าซออกซิเจน
 2,600 ล้านปี มีปริมาณน้ำในมหาสมุทรร้อยละ 90 เทียบกับปัจจุบัน


ภาพที่ 2 สโตรมาโทไลต์ ตะกอนซึ่งเกิดจากการสะสมของแบคทีเรียสีเขียว

มหายุค โพรเทอโรโซอิก (Proterozoic aeon)
นับตั้งแต่ 2.5 – 0.5 พันล้านปีก่อน โลกเย็นตัวลง เริ่มมียุคน้ำแข็งเกิดขึ้นสลับกันไปทุกๆ หลายร้อยล้านปี การตกตะกอนของเปลือกทวีปที่ผุพัง ทำให้เกิดทะเลน้ำตื้น สิ่งมีชีวิตทั้งเซลล์เดียว และหลายเซลล์ทวีปริมาณเพิ่มขึ้น
 2,500 ล้านปีก่อน เกิดเซลล์ชนิดมีนิวเคลียส (Eukayote cells)
 2,000 ล้านปีก่อน ก๊าซออกซิเจนทวีปริมาณ เนื่องจากการสังเคราะห์แสงของสิ่งมีชีวิต ทำให้เกิดชั้นโอโซน
 1,800 ล้านปีก่อน เกิดการแบ่งเพศของสิ่งมีชีวิต
 1,400 ล้านปีก่อน เกิดสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์
 1,000 ล้านปีก่อน ปริมาณก๊าซออกซิเจนเท่ากับร้อยละ 18 ของปัจจุบัน
 600 ล้านปีก่อน เกิดสังคมของสิ่งมีชีวิต


ภาพที่ 3 การเพิ่มขึ้นของออกซิเจนในบรรยากาศ

มหายุค ฟาเนอโรโซอิก (Phanerozoic aeon)
อยู่ในช่วง 500 ล้านปีก่อนจนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่จำนวนมากทั้งในมหาสมุทรและบนแผ่นดิน มหายุคฟาเนอโรโซอิกถูกแบ่งย่อยออกเป็น 3 ยุค ดังนี้
 ยุคพาเลโอโซอิก (Palaeozoic era) อยู่ในช่วง 545 – 245 ล้านปีก่อน เป็นยุคเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตทั้งในมหาสมุทร และบนบก
 ยุคเมโสโซอิก (Mesozoic era) อยู่ในช่วง 245 – 65 ล้านปีก่อน เป็นยุคของสัตว์เลื้อยคลานจำพวก ไดโนเสาร์
 ยุคเซโนโซอิก (Cenozoic era) อยู่ในช่วง 65 ล้านปีก่อนจนถึงปัจจุบัน เป็นยุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั้งนี้ยุคเซโนโซอิกได้ถูกแบ่งย่อยอีกเป็นยุคย่อยๆ อีก 2 ยุค คือ
เทอร์เชียรี (Tertiary) อยู่ในช่วง 65 – 1.8 ล้านปีก่อน เป็นยุคเริ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ควอเทอนารี (Quaternary) คือช่วง 1.8 ล้านปีก่อนจนถึงปัจจุบัน เป็นยุคสมัยของสิ่งมีชีวิตปัจจุบัน
ในการศึกษาฟอสซิล (ซากสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์) นักวิทยาศาสตร์กำหนดคาบเวลาในมหายุคอาร์เคียนและโปรเทอโรโซอิกว่า “พรีแคมเบรียน” (Precambrian) ถือเป็นยุคที่ยังไม่มีฟอสซิลปรากฏชัดเจน และแบ่งมหายุคฟาเนอโรโซอิกออกเป็น 11 คาบ (Period) โดยถือตามการเปลี่ยนแปลงประเภทของฟอสซิล ดังนี้

1. พรีแคมเบรียน (Precambrian) เป็นช่วงเวลานับตั้งแต่โลกถือกำเนิดขึ้นมาจนถึง 545 ล้านปีก่อน เป็นช่วงเวลาที่ปรากฏฟอสซิลให้เห็นน้อยมาก หินอัคนีที่เก่าแก่ที่สุดพบที่กรีนแลนด์มีอายุ ล้านปี หินตะกอนที่เก่าแก่ที่สุดพบที่ออสเตรเลียมีอายุ 3.8 พันล้านปี ฟอสซิลที่ดึกดำบรรพ์ที่สุดคือ แบคทีเรียนโบราณอายุ 3.4 พันล้านปี

2. แคมเบรียน (Cambrian) เป็นคาบแรกของยุคพาเลโอโซอิก ในช่วง 545 – 490 ล้านปีก่อน เกิดทวีปใหญ่รวมตัวกันทางขั้วโลกใต้ เป็นยุคของแบคทีเรียสีเขียวและสัตว์มีกระดอง เป็นช่วงเวลาที่สัตว์ยังอาศัยอยู่ในทะเล บนพื้นแผ่นดินยังว่างเปล่า สัตว์มีกระดอง ได้แก่ ไทรโลไบต์ หอยสองฝา ฟองน้ำ และหอยทาก พืชส่วนใหญ่เป็นสาหร่ายทะเล เป็นต้น ไทรโลไบต์สูญพันธุ์ในช่วงปลายยุคนี้

3. ออร์โดวิเชียน (Ordovician) อยู่ในช่วง 490 – 443 ล้านปีก่อน ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สโตรมาโทไลต์ลดน้อยลง เกิดประการัง ไบรโอซัว และปลาหมึก สัตว์ทะเลแพร่พันธุ์ขึ้นสู่บริเวณน้ำตื้น เกิดสัตว์มีกระดูกสันหลังขึ้นเป็นครั้งแรกคือ ปลาไม่มีขากรรไกร เกิดสปอร์ของพืชบกขึ้นครั้งแรก

4. ไซลูเรียน (Silurian) อยู่ในช่วง 443 – 417 ล้านปีก่อน เกิดสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกซึ่งใช้พลังงานเคมีจากภูเขาไฟใต้ทะเล (Hydrothermal) เกิดปลามีขากรรไกร และสัตว์บก ขึ้นเป็นครั้งแรก บนบกมีพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์

5. ดีโวเนียน (Devonian) อยู่ในช่วง 417 – 354 ล้านปีก่อน อเมริกาเหนือ กรีนแลนด์ สก็อตแลนด์ รวมตัวกับยุโรป ถือเป็นยุคของปลา ปลามีเหงือกแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมาก เกิดปลามีกระดอง ปลาฉลาม หอยฝาเดียว (Ammonite) และแมลงขึ้นเป็นครั้งแรก บนบกเริ่มมีพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และมีป่าเกิดขึ้น

6. คาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous) อยู่ในช่วง 354 – 295 ล้านปีก่อน บนบกเต็มไปด้วยป่าเฟินขนาดยักษ์ปกคลุมห้วย หนอง คลองบึง ซึ่งกลายเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่สำคัญในปัจจุบัน มีการแพร่พันธุ์ของแมลง และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เริ่มมีวิวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลาน กำเนิดไม้ตระกูลสน

7. เพอร์เมียน (Permian) เป็นคาบสุดท้ายของยุคพาเลโอโซอิก ในช่วง 295 – 248 ล้านปีก่อน เปลือกทวีปรวมตัวกันเป็นทวีปขนาดใหญ่ชื่อ แพงเจีย ในทะเลเกิดแนวประการังและไบโอซัวร์ บนบกเกิดการแพร่พันธุ์ของสัตว์เลื้อยคลานเลี้ยงลูกด้วยนม ในปลายคาบเพอร์เมียนได้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ (Mass extinction) สิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในทะเลหายไปร้อยละ 96 ของสปีชีส์ นับเป็นการปิดยุคพาเลโอโซอิก

8. ไทรแอสสิก (Triassic) เป็นคาบแรกของยุคเมโสโซอิก ในช่วง 248 – 205 ล้านปีก่อน เกิดสัตว์เลื้อยคลานเลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์ต้นตระกูลไดโนเสาร์ ป่าเต็มไปด้วยสนและเฟิร์น

9. จูแรสสิก (Jurassic) เป็นคาบกลางของยุคเมโสโซอิก ในช่วง 205 – 144 ล้านปีก่อน เป็นยุคที่ไดโนเสาร์ครองโลก เริ่มมีสัตว์ปีกจำพวกนก ไม้ในป่ายังเป็นพืชไร้ดอก ในทะเลมีหอยแอมโมไนต์

10. ครีเทเชียส (Cretaceous) เป็นคาบสุดท้ายของยุคเมโสโซอิก ในช่วง 144 – 65 ล้านปีก่อน มีงู นก และพืชมีดอก ไดโนเสาร์วิวัฒนาการให้มี นอ ครีบหลัง ผิวหนังหนาสำหรับป้องกันตัว ในปลายคาบครีเทเชียสได้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปหมดสิ้น สิ่งมีชีวิตอื่นสูญพันธุ์ไปประมาณร้อยละ 70 ของสปีชีส์

11. พาลีโอจีน (Paleogene) เป็นคาบแรกของยุคเซโนโซอิก ในช่วง 65 – 24 ล้านปี ทวีปอเมริกาเคลื่อนเข้าหากัน อินเดียเคลื่อนที่เข้าหาเอเซีย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแพร่พันธุ์แทนที่ไดโนเสาร์ มีทั้งพวกกินพืชและกินเนื้อ บนบกเต็มไปด้วยป่าและทุ่งหญ้า ในทะเลมีปลาวาฬ

12. นีโอจีน (Neogene) อยู่ในช่วง 24 – 1.8 ล้านปีก่อน เป็นช่วงเวลาของสัตว์รุ่นใหม่ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของสัตว์ในปัจจุบัน รวมทั้งลิงยืนสองขาซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ (Homo erectus) พลาลีโอจีนและนีโอจีนจัดว่าอยู่ในยุคย่อยชื่อ เทอเชียรี (Tertiary) ของยุคเซโนโซอิก หลังจากนั้นจะเป็นยุคย่อยชื่อ ควอเทอนารี (Quaternary) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 สมัย (epoch) คือ

13. ไพลสโตซีน (Pleistocene) อยู่ในช่วง 1.8 ล้านปี – 1 หมื่นปี เกิดยุคน้ำแข็ง ร้อยละ 30 ของซีกโลกเหนือปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ทำให้ไซบีเรียและอล้าสกาเชื่อมต่อกัน เริ่มมีเสือเขี้ยวโค้ง ช้างแมมมอท และหมีถ้ำ บรรพบุรุษของมนุษย์ได้อุบัติขึ้นในสายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) เมื่อประมาณสองแสนปีที่แล้ว

14. โฮโลซีน (Holocene) นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคน้ำแข็งเมื่อ 1 หมื่นปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน มนุษย์รู้จัการทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ และอุตสาหกรรม ป่าในยุโรปถูกทำลายหมด ป่าฝนเขตร้อนกำลังจะหมดไป

ตารางที่ 1 เวลาทางธรณีวิทยา

มหายุค
(Aeon)
ยุค
(Era)
คาบ
(Period)
เวลา
(ล้านปีก่อน)
เหตุการณ์
อาร์เคียน
พรีแคมเบรียน
4,600
กำเนิดโลก
โพรเทอโรโซอิก
2,500
พืชและสัตว์ชั้นต่ำ กำเนิดออกซิเจน
ฟาเนอโรโซอิค
พาลีโอโซอิก
แคมเบรียน
545
สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอยู่ในทะเล
ออร์โดวิเชียน
490
หอยและปู ปลาไม่มีขากรรไกร
ไซลูเรียน
443
พืชบกใช้สปอร์ ปลามีขากรรไกร
ดีโวเนียน
417
แมลง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พืชมีท่อ
คาร์บอนิเฟอรัส
354
ป่าผืนใหญ่ เกิดสัตว์เลื้อยคลาน
เพอร์เมียน
295
เฟิร์นและสน การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุด
เมโสโซอิก
ไทรแอสสิก
248
สัตว์เลื้อยคลานเลี้ยงลูกด้วยนม
จูแรสสิก
205
ไดโนเสาร์เฟื่องฟู นกพวกแรก
ครีเทเชียส
144
พืชดอก ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ในปลายคาบ
เซโนโซอิก
เทอเชียรี
พาลีโอจีน
65
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแพร่พันธุ์
นีโอจีน
24
ลิงยืนสองขา โฮโมอีเรกตัส
ควอเทอนารี
ไพลสโตซีน
1.8
เสือเขี้ยวโค้ง ช้างแมมมอท และหมีถ้ำ
โฮโลซีน
0.01
มนุษย์โฮโมเซเปียนส์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *